เวลาทำการ : วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.

แถลงข่าวผลการประชุมฯ (AIPACODD) ครั้งที่ 2

วันที่: 14 มีนาคม 2562

นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิก สนช. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยพลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมฯ (AIPACODD) ครั้งที่ ๒

 วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยพลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และเว็บไซต์การประชุม ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยยาเสพติดอันตราย (The Meeting of AIPA Advisory Council on Dangerous Drugs : AIPACODD) ครั้งที่ ๒ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบกับข้อมติในการพัฒนาทางเลือกเพื่อมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนปลอดยาเสพติด

        โดยมีการประชุมตามร่างระเบียบวาระการประชุมซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานจากประเทศสมาชิก AIPA การพิจารณาร่างข้อมติการประชุม การพูดคุยเรื่องผลสัมฤทธิ์ของการประชุมหรือ Outcome การรับรองรายงานการประชุม และพิธีปิดการประชุม การรับตำแหน่งของประเทศเจ้าภาพ IPACODD ครั้งที่ ๓ ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่วนร่างข้อมติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกเพื่อมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนปลอดยาเสพติด ซึ่งร่างข้อมติดังกล่าวบูรณาการการพัฒนาการทุกด้านของชุมชน ในการจัดการปัญหายาเสพติด เรื่องการพัฒนาทางเลือก Alternative Development เป็นการพัฒนาศาสตร์พระราชาผ่านโครงการตัวอย่างที่ได้นำไปเยี่ยมชม คือ โครงการเมืองอาง และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทางเลือก เพื่อต่อสู้กับปัญหายาเสพติด  และใช้ประเทศไทยเป็นกรณีตัวอย่าง ในความสำเร็จที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทำอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ และการดำเนินโครงการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในปัจจุบัน ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ เช่น เมียนมา สนใจมากและจะนำไปเสนอที่รัฐสภา ในการแถลงรายงานประเทศไทย ในปี ๒๕๖๑ เราได้ทราบว่าคนที่ติดยาเสพติดปัจจุบันมีอายุระหว่าง ๒๐ – ๒๔ ปี และมีงานทำ โดยการจับกุมที่ผ่านมา ประกอบด้วยยาบ้า ๓๐๒ ล้านเม็ด ยาไอซ์ ๑๘,๕๒๖ กิโลกรัม เฮโรอีน ๙๐๓ กิโลกรัม และเคตามี ๓๐๒ กิโลกรัม  และมีแนวโน้มที่ยาเสพติดสังเคราะห์ที่ผลิตในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการลักลอบขนยาเสพติดผ่านประเทศไทยมากขึ้น  ทั้งนี้  เฮโรอีนและเคตามีน อยู่ในลำดับที่ต้องจับตา เนื่องจากมีแนวโน้มจะมีผู้เสพเป็นเด็กและเยาวชนช่วง ๒ ปีนี้  ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดโดยผู้เสพคือผู้ป่วย และในประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ให้ผู้ติดยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดและยังมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ในการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้น โดยมีการจำกัดการเข้าถึงอย่างเข้มงวด

          โดยที่ประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยยาเสพติดอันตรายได้ยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันของอาเซียนต่ออาเซียนปลอดยาเสพติด เนื่องจากจะช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อสังคมผ่านการลดการเพาะปลูกพืชผิดกฎหมาย การผลิตและการค้ายาเสพติดอื่น ๆ รวมทั้งอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการปฏิเสธต่อการใช้ยาที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการพิจารณาการพัฒนาทางเลือกที่เป็นหลักพื้นฐานสำหรับองค์ประกอบสำคัญของนโยบายและโปรแกรมสำหรับลดการผลิตยาเสพติดและการค้า โดยแนะนำการประกอบอาชีพที่มีใบอนุญาตเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นจากการสนับสนุนการออกใบอนุญาตในชุมชนให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตพืชผิดกฎหมาย โดยถือเป็นแนวทางการพัฒนาทางเลือกในการลดการปลูกพืชยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ในแต่ละชุมชนจะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถเฉพาะด้านที่มีศักยภาพในการพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาทางเลือก และเชื่อมั่นในความสามารถของประเทศสมาชิกสมัชชารัฐสภาอาเซียนในการสนับสนุนชุมชนแต่ละแห่งของตนเองเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล และสมัชชารัฐสภาอาเซียนในการกำหนดนโยบายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ รวมทั้ง การออกกฎหมายเพื่อพัฒนาทางเลือกให้บรรลุเป้าหมายในการกำจัดภัยคุกคามจากพืชและยาเสพติดที่ผิดกฎหมายสู่สังคมอาเซียน

           ทั้งนี้ ขอให้ประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาทางเลือก แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และนวัตกรรมเพื่อต่อต้านยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย และผลกระทบต่อการกินดีอยู่ดีของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนกระตุ้นให้สมาชิกรัฐสภาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนพิจารณาศึกษาในเชิงป้องกันการบังคับใช้กฎหมาย การรักษาและการฟื้นฟู การวิจัย รวมทั้งความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

           โอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกสมัชชารัฐสภาอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านยาเสพติดของอาเซียน (ASOD) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มูลนิธิโครงการหลวง และทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมนี้ที่ได้ให้ความสำคัญและเข้าร่วมประชุม โดยเชื่อมั่นว่าผลจากการประชุมนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้ประชาคมอาเซียนปลอดยาเสพติด ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ในการเตรียมการให้ภูมิภาคของเราห่างไกลจากภัยคุกคามที่เกิดจากยาเสพติด

Last updated by
นางสาว ทิพวรรณ ปทุมธา
27 มีนาคม 2567

วีดีโอ

เอกสาร & ไฟล์อ้างอิง

จำนวนผู้ชม
1365

แบ่งปัน