เวลาทำการ : วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.

กระทรวงการต่างประเทศ เสวนา APEC Media Focus Group แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้ด้าน MSMEs และการส่งเสริมบทบาทสตรี ตามประสงค์ของเอเปค

วันที่: 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมอาคาร 50 ปี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมอาคาร 50 ปี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "Sustainable MSMES, Women and Business" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความตระหนักรู้แก่ทุกภาคส่วนในประเด็นการผลักดัน MSMEs และการส่งเสริมบทบาทสตรีที่เอเปคให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของภาคธุรกิจไทยในภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมการเสวนา ในการนี้ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรับฟังการเสวนา นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และสื่อส่วนกลางเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

     โดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะได้นำแนวคิดและข้อมูลที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ ไปประมวลและวิเคราะห์ เพื่อผลักดันในกรอบของเอเปค ตาม BCG Model และสอดรับกระบวนการของ APEC ภายใต้แนวคิด Open Connect Balance คือ การเปิดรับด้านการค้า การเชื่อมโยงการเปิดประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และการสร้างสมดุล ที่เน้นการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

          ด้าน นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า APEC มองว่าศักยภาพเชียงใหม่ มีจุดแข็งอยู่ที่ GDP ซึ่งเป็นลำดับ 1 ของภาคเหนือ และลำดับที่ 12 ของไทย มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภาคเหนือตอนบน สนามบินใหญ่เป็นลำดับ 3 ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสู่อารยธรรมภาคเหนือ โดย MSMEs ของเชียงใหม่ มีประมาณ 1 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นร้านขายของชำ อยู่ที่ร้อยละ 12.11 รองลงมาคือ การบริการด้านอาหาร สปา ธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบการด้านการผลิตชาและกาแฟ ตามลำดับ ฉะนั้น จังหวัดเชียงใหม่ จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยจะต้องดำเนินการฟื้นฟูอย่างครอบคลุม คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทุกสาขา ซึ่งการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องยั่งยืน ครอบคลุม สมดุล และพร้อมต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          ทั้งนี้ พบว่าแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ และการทำงานของเอเปคในขณะนี้ มีความสอดคล้องกันในหลายด้าน อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทรัพยากรธรรมชาติ และเมืองอัจฉริยะ การทำธุรกิจที่พึ่งพิงและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลัก วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนเชียงใหม่ ไปสู่ “นครแห่งชีวิต และความมั่งคั่ง”

อ้างอิง: ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

Last updated by
นางสาว ศิริลักษณ์ ทาแดง
11 เมษายน 2567

วีดีโอ

เอกสาร & ไฟล์อ้างอิง

จำนวนผู้ชม
501

แบ่งปัน